ผู้ว่าโคราชลงพื้นที่ปากช่อง ดูปัญหาก่อสร้างอุโมงค์ทางลอดจุดตัดทางรถไฟ หลังพบปัญหากระทบชุมชนในหลายพื้นที่

เวลา 11.00 น. วันที่ 22 พฤษภาคม 2562 นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ลงพื้นที่บริเวณสถานที่ก่อสร้างอุโมงค์ลอดจุดตัดทางรถไฟ ช่วง กม.171+200 -กม.178+000 เขตเทศบาลเมืองปากช่อง พร้อมด้วย นายสุรพันธ์ ศิลปสุวรรณ นายอำเภอปากช่อง นายมนู คุขุนทด ท้องถิ่นอำเภอปากช่อง นายคมกฤษณ์ ลิ้มปัญญาเลิศ นายกเทศมนตรีเมืองปากช่อง เพื่อตรวจสอบความคืบหน้าและความเดือดร้อนของประชาชน ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการก่อสร้างรถไฟรางคู่ช่วงสัญญาที่ 1 มาบกะเบา – คลองขนานจิตต์

โดยจากการสอบถามผู้ควบคุมงานก่อสร้างบริเวณดังกล่าว ระบุว่า อยู่ระหว่างก่อสร้างอุโมงค์ลอดทางรถไฟตามรูปแบบสัญญา คือ มีลักษณะเป็นช่องทาง เข้า-ออก ด้านละ 1 ช่องทาง ซึ่งตามรูปแบบดังกล่าวได้มีประชาชนทักท้วงขอให้ปรับเปลี่ยนแก้ไข เนื่องจากไม่ตรงกับบริบทของชุมชน ซึ่งผู้ที่ร้องเรียนระบุว่า จากแบบการก่อสร้างตามสัญญาของโครงการนี้ จะทำให้เกิดปัญหาในอนาคตอย่างแน่นอน เพราะบริเวณจุดตัดทางรถไฟแห่งนี้มีปริมาณรถที่ใช้เส้นทางอย่างหนาแน่น และมักจะมีรถบรรทุกขนาดใหญ่ใช้เส้นทางขนส่ง ตลอด 24 ชั่วโมง อีกทั้งยังเป็นเส้นทางลัดที่สำคัญสำหรับส่งสินค้า ผลิตภัณฑ์ ผลผลิต และวัตถุดิบทางการเกษตร ไปยังภาคกลาง และภาคเหนือ อีกเส้นทางหนึ่ง

จากนั้น นายวิเชียร ได้เข้าประชุมเพื่อรับฟังปัญหาความต้องการของชุมชนที่ใช้ถนนและใช้อุโมงค์สัญจรไปมาของประชาชน โดยมี นายคมกฤษณ์ ลิ้มปัญญาเลิศ นายกเทศมนตรีเมืองปากช่อง , นายศิรสิทธิ์ เลิศด้วยลาภ สส.จังหวัดนครราชสีมา เขต 12 , นายอรุณศักดิ์ รัตนะคุณชัย รองนายกเทศมนตรีเมืองปากช่อง , นายพัฒนพงศ์ พิมพ์บุญญามาศ ผอ.กองช่าง เทศบาล , น.ส.ณัชนลิน ยะอนันต์ ปลัดเทศบาลเมืองปากช่อง ,นายพลพจน์ พลเจริญเกียรติ ผู้ประกอบการโรงแรม ทองสมบูรณ์ รีสอร์ท ,นายสุรชัย กนะกปิณฑะ ตัวแทนกลุ่มสมาชิกสมาคมขนส่งสินค้าภาคอีสาน , นายกิตติ จึงวัฒนาวงค์ ประธานมูลนิธิสว่างวิชชาธรรมสถานปากช่อง ,ผู้นำองค์กร ผู้นำชุมชนเมือง 23 ชุมชน เข้าประชุมร่วมกัน ถกปัญหาการก่อสร้าง อุโมงค์ทางลอดทางข้าม โครงการก่อสร้างทางรถไฟความเร็วสูง และทางรถไฟรางคู่ สายภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ช่วงมาบกะเบา – ชุมทางถนนจิระ ช่วง กม.171+200 -กม.178+000 ณ ห้องประชุมสภาเทศบาลเมืองปากช่อง

ซึ่งความต้องการของประชาชนในพื้นที่ ในการก่อสร้างอุโมงค์รอดทางรถไฟ อยากให้ก่อสร้างถนนในอุโมงค์ 4 เลน ช่องละ 2 เลน เพื่อป้องกันการจราจรติดขัด การป้องกันน้ำท่วมฉับพลันภายในอุโมงค์ขณะรถจอดติด รวมถึงระบบป้องกันไฟฟ้ารั่ว และช่องทางคนเดินเท้าภายในอุโมงค์ เนื่องจากตามแบบก่อสร้าง 2 เลน ไม่มีไหล่ทางเพื่อป้องกันอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นกับรถจักรยานยนต์ที่ใช้เส้นทางภายในอุโมงค์ นอกจากนี้บริเวณปากอุโมงค์ดังกล่าว ยังมีสัญญานไฟจราจร ซึ่งทำให้เกิดปัญหากับรถขนส่งขนาดใหญ่ อีกทั้งยังอาจเป็นสาเหตุที่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุภายในอุโมงค์ได้ นอกจากนี้ โดยประชาชนในพื้นที่ ยังได้เสนอให้ผู้ที่รับผิดชอบโครงการและผู้รับเหมาก่อสร้าง ปรับเปลี่ยนแปลงแบบ 2 แบบ โดย แบบที่ 1 ในการขยายชองทางอุโมงค์ ไป 1 ช่องทางและกลับ 2 ช่องทาง เพื่อแก้ปัญหาการจราจรติดขัดในอุโมงค์ แก้ปัญหาน้ำท่วมขังในอุโมงค์เมื่อเกิดฝันตกหนักน้ำป่าไหลหลากรุนแรง และปัญหาการสัญจรเดินลอดอุโมงค์ ป้องกันอุบัติเหตุชนคนภายในอุโมงค์ และแบบที่ 2 คือการก่อสร้างสะพานยกระดับข้ามทางรถไฟ แล้วให้มีทางแยกออกซ้าย-ขวา รวมทั้งสะพานทางรถจักรยานยนต์ รถซาเล้ง 3 ล้อ เพื่อให้ประชาชนได้สัญจร และขนส่งสินค้าเข้ามาจำหน่ายที่ตลาดสดเทศบาล

เนื่องจากตามแบบการก่อสร้างสะพานข้ามรถจักรยานยนต์รถซาเล้งบรรทุกของ มีจุดข้ามไม่เพียงพอ เกรงจะเกิดปัญหาการจราจรแออัดตามมาในอนาคต เพราะเมื่อการก่อสร้างเสร็จ การรถไฟก็จะทำการล้อมรั้วลูกกรงเหล็กตลอดแนวปิดกั้นระหว่างชุมชนเมืองและชุมชนต่าง ๆ ที่อยู่อีกฝากทางรถไฟ รวมทั้งถนนทางเชื่อมกับอุโมงค์ จาก ต.ปากช่อง มาชุมชนเมืองตลาดปากช่อง และถนนเลียบทางรถไฟ จากชุมชนหนองกะจะ ไปโครงการไฮแลนด์ บ้านท่ามะนาว เป็นการตัดตอนแบ่งชุมชนเมืองปากช่องตัดขาดจากกันโดยสิ้นเชิง

นายคมกฤษณ์ ลิ้มปัญญาเลิศ นายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองปากช่อง เปิดเผยว่า เขตเทศบาลเมืองปากช่อง มีพื้นที่กว้างและมีบ้านเรือนประชาชนกลุ่มใหญ่กระจายอยู่ทั้งสองฝั่งทางรถไฟ ในอนาคตหากการก่อสร้างทางรถไฟความเร็วสูงและรถไฟรางคู่เสร็จ การรถไฟก็จะมีการล้อมลูกกรงเหล็กตลอดแนวปิดกั้นเส้นทางเดิมที่มีอยู่ หากการก่อสร้างอุโมงค์ที่มีทั้งรถบรรทุกพืชผลทางการเกษตร อ้อย มันสำปะหลัง หรือสะพานข้ามให้กับรถขนาดเล็ก รวมทั้งถนนเลียบทางรถไฟเชื่อมชุมชนที่อยู่ใกล้ทางรถไฟ ซึ่งในอนาคตอาจจะเกิดปัญหาได้ เพราะรถยนต์รถจักรยานยนต์ เพิ่มปริมาณขึ้นทุกปี จึงอยากให้คณะกรรมการโครงการก่อสร้างปรับแก้ไขแบบให้มีการมาตาฐานเดินทางสะดวกปลอดภัยของประชาชน หากการก่อสร้างตามแบบเดิมเสร็จ ก็จะทำให้มีปัญหาในเขตเทศบาล เพื่อแก้ไขปัญหาที่อาจเกิดขึ้นและยังเป็นไปตามที่ประชาชนต้องการและความแก้ปัญหาการจราจรในอนาคต

นายพลพจน์ พลเจริญเกียรติ ผู้ประกอบการโรงแรม ทองสมบูรณ์ รีสอร์ท และนายสุรชัย กนะกปิณฑะ ตัวแทนกลุ่มสมาชิกสมาคมขนส่งสินค้าภาคอีสาน กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้มีการประชุมหารือกันมาแล้วประมาณ 3-4 ครั้ง ซึ่งตัวแทน บริษัท ที่ปรึกษาโครงการ มักจะระบุว่าจะได้นำเรื่องในที่ประชุมทุกครั้งที่ผ่านมา เสนอให้กับผู้มีอำนาจตัดสินใจเพื่อพิจารณา หาทางแก้ไขตามความต้องการของประชาชน แต่เมื่อมีการประชุมอีกครั้ง ตนก็ไม่เคยได้รับคำตอบที่ชัดเจนเลยสักครั้ง ซึ่งทางบริษัท ที่ปรึกษาโครงการ ยืนยันจะก่อสร้างอุโมงค์ ตามแบบสัญญาก่อสร้างของโครงการ คือ ไป-กลับ ข้างละ 1 ช่องทาง โดยอ้างว่า พื้นที่เวนคืนที่ดินทำการก่อสร้างคับแคบ และต้องใช้งบประมาณเพิ่มขึ้น แต่ก็มักระบุว่าจะรับเรื่องในที่ประชุมไปเสนอให้กับผู้มีอำนาจตัดสินใจทุกที

นายวิเชียร จันทรโณทัย ผวจ นครราชสีมา กล่าวว่า การก่อสร้างอุโมงค์ข้ามทางรถไฟในพื้นที่ จ. นครราชสีมา พบว่ามีปัญหาเหมือนกันหมดทุกพื้นที่ เนื่องจากการออกแบบก่อสร้าง ไม่สอดคล้องความเป็นไปได้ของปัจจุบันและอนาคต เนื่องจากการก่อสร้างแบบคับแคบ ไม่รองรับรถบรรทุกขนาดใหญ่ มีน้ำหนักและความสูง จึงอยากให้พื้นที่ประชุมกันเพื่อสรุปความต้องการ แล้วทำหนังสือส่งไปยัง ผวจ.เพื่อจะได้พร้อมกันเข้าไปหารือ รมว.คมนาคม คนใหม่ของรัฐบาล อย่างเร่งด่วนต่อไป หากล่าช้าเกรงจะไม่ทันการเพราะการก่อสร้างไปแล้วกว่า 30 เปอร์เซ็นไปแล้ว จึงอยากให้ประชาชนแต่ละพื้นที่หาข้อสรุปโดยเร็ว ซึ่งการก่อสร้างโครงการดำเนินการก่อสร้างมาแล้วประมาณ 1 ปีเศษ ตามสัญญาก่อสร้างโครงการกำหนดระยะเวลา 4 ปี

Previous Article
Next Article

ใส่ความเห็น

– เยาวชนไทย ก้าวสู่อาชีพในฝัน

คลังข่าวรายเดือน