โครงการก่อสร้างรถไฟรางคู่สายภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่งเจ้าหน้าที่ลงสำรวจชั้นดินข้างทางรถไฟในเขตเทศบาลเมืองปากช่อง


ขอบคุณภาพจากกลุ่มไลน์ #แจ้งข่าวปากช่อง

เวลา 10.30 น. วันที่ 27 พฤศจิกายน 2560 ผู้สื่อข่าวได้รับรายงานว่า มีการขุดเจาะพื้นที่ข้างทางรถไฟ บริเวณชุมชนมอดินแดง เขตเทศบาลเมืองปากช่อง เบื้องต้นจากการตรวจสอบพบว่าเป็นการขุดเจาะเพื่อสำรวจชั้นดิน บริเวณโครงการก่อสร้างรถไฟรางคู่ สายภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ของบริษัท ไชน่าเรลเวย์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด เพื่อทำการเตรียมความพร้อมในการวางแผนการก่อสร้างรถไฟรางคู่ และโครงการรถไฟความเร็วสูงในอนาคต

สำหรับโครงการก่อสร้างรถไฟรางคู่สายภาคตะวันออกเฉียงเหนือนั้น เป็นโครงการที่ภาครัฐบาลมีแผนการดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องโดยเป็นการร่วมลงทุนระหว่างไทยและจีน ซึ่งมีแผนดำเนินการก่อสร้างแบ่งออกเป็น 4 ตอนคือ
ตอนที่ 1.สถานีกลางดง-ปางอโศก 3.5 กม. วงเงิน 425 ล้านบาท ได้รับแบบจากจีนแล้ว มอบให้กรมทางหลวง (ทล.) เป็นผู้ก่อสร้าง โดยใช้เงินการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.)
ตอนที่ 2.ปากช่อง-คลองขนานจิตร 11 กม.
ตอนที่ 3.แก่งคอย-นครราชสีมา 119.5 กม.
ตอนที่ 4.กรุงเทพฯ-แก่งคอย 119.5 กม. ภายใน 6 เดือน


ขอบคุณภาพจากกลุ่มไลน์ #แจ้งข่าวปากช่อง

ทั้งนี้นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2560 ว่า จากการประชุมเรื่องรายละเอียดที่ผ่านมาว่า ทางจีนจะทยอยส่งแบบเพื่อนำไปสู่การจัดซื้อจัดจ้าง ซึ่งจะใช้ผู้รับเหมาในไทย คาดว่าจะทยอยเปิดประมูลฝ่ายไทยและจีนได้เซ็นสัญญาจ้างที่ปรึกษาออกแบบ 1,706 ล้านบาท และ ที่ปรึกษาควบคุมงานก่อสร้าง 3,500 ล้านบาทแล้ว ส่วนสัญญาจัดหาระบบและขบวนรถ ซึ่งใช้เทคโนโลยีจีน เมื่อเซ็นสัญญาแล้วคู่สัญญาจะเป็นการรถไฟไทยและการรถไฟจีน เมื่อมีข้อสรุปรูปแบบการเดินรถแล้วถึงจะถ่ายโอนให้กับองค์กรที่จะมาเดินรถอีกครั้ง


ขอบคุณภาพจากกลุ่มไลน์ #แจ้งข่าวปากช่อง

ด้านแหล่งเงินก่อสร้างจะใช้เงินกู้ภายในประเทศ โดยจะแบ่งสัญญาเพื่อร่างเอกสารประกวดราคา(ทีโออาร์)และเปิดประมูล รวม 14 สัญญา วงเงินก่อสร้างราว 1.25 แสนล้านบาท ซึ่งจะจัดลำดับการออกแบบและก่อสร้างเพื่อทยอยเปิดใช้บริการเป็นช่วงๆ

สำหรับการดำเนินการสัญญาที่ 2.3 ซึ่งเกี่ยวกับ งานระบบราง ระบบไฟฟ้า และเครื่องกล รวมทั้งจัดหาขบวนรถไฟและจัดฝึกอบรมบุคลากรนั้น กระทรวงคมนาคมจะเร่งหารือรายละเอียดกับฝ่ายจีน เพื่อให้ได้ข้อสรุปภายในเดือนมีนาคม 2561 ทั้งเรื่องรายละเอียดตัวรถและวงเงิน เพื่อให้สอดคล้องกับการก่อสร้างต่อไป

ในส่วนการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อม(อีไอเอ)นั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนพิจารณารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมโดยสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(สผ.) ทั้งนี้มั่นใจว่าจะผ่านความเห็นชอบอีไอเอเพื่อเริ่มก่อสร้างตามแผนที่วางไว้ ขณะเดียวกัน จะหารือจีนศึกษาช่วงนครราชสีมา-หนองคาย ตั้งเป้าให้แล้วเสร็จปี 2565 พร้อมรถไฟจีน-ลาว

Previous Article
Next Article

ใส่ความเห็น

– เยาวชนไทย ก้าวสู่อาชีพในฝัน

คลังข่าวรายเดือน