สถานีวิจัยลำตะคอง เปิดจุดพักรถ จุดพักผ่อนอำนวยความสะดวกนักเดินทาง

นายมนตรี แก้วดวง ผู้อำนวยการสถานีวิจัยลำตะคอง เปิดเผยว่า ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2562 นี้ จังหวัดนครราชสีมา ร่วมกับ สถานีวิจัยลำตะคอง ซึ่งเป็น หน่วยงานภายใต้กำกับของ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้ดำเนินการเปิดจุดพักรถ พักผ่อน เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชน ซึ่งเดินทางผ่าน ถนนมิตรภาพ บริเวณ หลักกิโลเมตรที่ 76-77 ขาออก มุ่งหน้านครราชสีมา ต.หนองสาหร่าย ก่อนถึงเขื่อนลำตะคอง ในระหว่างวันที่ 10-16 เมษายน 2562

ทั้งนี้ สืบเนื่องมาจากที่ผ่านมา ในแต่ละช่วงเทศกาล มักจะมีประชาชนเดินทางเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะเส้นทางถนนมิตรภาพ มุ่งหน้าสู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อีกทั้งบริเวณถนนมิตรภาพ ช่วงหน้าสถานีวิจัยลำตะคอง ได้มีการก่อสร้างสะพานยกระดับมอเตอร์เวย์ ซึ่งส่งผลกระทบทำให้มีรถติดขัดสะสมเป็นจำนวนมาก จนทำให้เกิดความเหนื่อยล้าของผู้ขับขี่ยานพาหนะ จนเป็นสาเหตุส่วนหนึ่งที่ให้เกิดอุบัติเหตุ ดังนั้นทางสถานีวิจัยลำตะคอง จึงขอเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยลดปัญหาอุบัติเหตุในช่วงเทศกาล เปิดจุดพักรถ จุดพักผ่อนให้กับประชาชนที่เดินทางผ่านสถานีวิจัยฯ

จุดพักรถ จุดพักผ่อน ของสถานีวิจัยลำตะคอง กม.77 ขาออก ได้รับความร่วมมือจากภาครัฐ และภาคเอกชน รวมถึงหน่วยงานต่างๆ เพื่อให้ประชาชนได้ผ่อนคลายความตึงเครียด คลายความเมื่อยล้าระหว่างเดินทาง ซึ่งประกอบด้วย จุดบริการห้องสุขา ร้านอาหาร เครื่องดื่ม ผลิตภัณฑ์โอทอป ของฝาก ของที่ระลึก จุดชมวิว จุดเช็คอินกับทุ่งปอเทือง ซุ้มดอกไม้ บริการนวดผ่อนคลาย จุดปฐมพยาบาล และบริการให้ความช่วยเหลือและตรวจเช็คสภาพรถเบื้องต้น นอกจากนี้ยังมีห้องพักสำหรับผู้ที่ต้องการพักผ่อน ก่อนเดินทางต่อไป โดยสามารถจองห้องพัก หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ได้ที่ สถานีวิจัยลำตะคอง โทร 0-4439-0107 หรือที่ https://www.facebook.com/LamtakhongResearch

สำหรับสถานีวิจัยลำตะคอง เป็นสถานีวิจัยในส่วนภูมิภาคของ วว. ตั้งอยู่ใน ต.หนองสาหร่าย อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา นับเป็นแหล่งต้นน้ำงานวิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยี งานวิจัย เทคโนโลยีนวัตกรรมสู่เกษตรกรในแถบภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน สร้างเศรษฐกิจไทยมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน 

“ปัจจุบัน สถานีวิจัยลำตะคองยังเป็นที่ตั้งของอาคารเฉลิมพระเกียรติเรือนกระจกหลังที่ 1 และ หลังที่ 2 ที่รวบรวมพรรณไม้นานาชนิดและจำลองสภาวะที่เหมาะสมสำหรับการเจริญเติบโตพรรณไม้ ตลอดจนเป็นที่ตั้งของศูนย์อนุรักษ์แมลงเขตร้อน จึงถือเป็นแหล่งเรียนรู้ทางด้านเกษตรและพฤกษศาสตร์แห่งใหม่ของประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีกด้วย”

Previous Article
Next Article

ใส่ความเห็น

– เยาวชนไทย ก้าวสู่อาชีพในฝัน

คลังข่าวรายเดือน